50165 จำนวนผู้เข้าชม |
กาพ่นสีเป็นเครื่องมือช่างที่ใช้ในการตกแต่งชิ้นงานให้มีสีสันสวยงาม กาพ่นสีช่วยให้ทำงานสีได้ง่าย สะดวก รวดเร็วกว่าการใช้แปรงหรือลูกกลิ้ง ได้งานออกมาเรียบเนียนสวย ใช้ได้ทั้งกับงานไม้ งานโลหะ พ่นสีรถยนต์ และทาสีบ้าน กาพ่นสีมีทั้งแบบที่ใช้กับลมและไฟฟ้า ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงกาพ่นสีที่ใช้กับลมเท่านั้น กาพ่นสีลมมีหลากหลายรุ่น หลากหลายประเภทให้เลือกใช้ตามแต่ลักษณะของงาน
ประเภทของกาพ่นสีลม
กาพ่นสีลมแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ กาพ่นสีแบบไหลลง (Gravity Feed Type) กาพ่นสีแบบดูด (Suction Feed Type) กาพ่นสีแบบอัด (Air Compression Type) กาพ่นสีแบบมีหรือไม่มีลมไหลผ่านตลอด (Bleeder and Non-Bleeder Type) และกาพ่นสีแบบพ่นสีล้วน (Airless Spray Type) แต่ที่นิยมใช้กันทั่วไปจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ กาพ่นสีแบบไหลลง กับ กาพ่นสีแบบดูด
1) กาพ่นสีแบบไหลลง (Gravity Feed Type) เป็นกาพ่นสีที่มีการไหลของสีแบบไหลลงโดยอาศัยแรมโน้มถ่วงของโลก เหมาะกับงานที่ใช้สีหรือของเหลวที่มีความหนืดสูง ใช้สีได้หมด ไม่มีสีตกค้างในตัวกา ทำให้ประหยัดสี กาพ่นสีแบบไหลลงมีทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่
1.1. กาพ่นสีที่มีตัวกาอยู่ด้านบนของตัวพ่นสี ที่เรียกกันว่า กาบน มีข้อดีคือ น้ำหนักเบา พ่นสีง่าย พ่นสีได้แม่นยำ สม่ำเสมอ แต่ข้อเสียคือ พ่นสีต่อเนื่องนานไม่ได้ เพราะตัวกาบรรจุสีได้น้อย ต้องเติมสีบ่อย
1.2. กาพ่นสีที่ตัวกาอยู่ด้านข้างของตัวพ่นสี มีข้อดีคือ สามารถปรับตัวกาตามมุมการพ่นสีได้ ทั้งมุมปกติ มุมก้ม หรือมุมเงย แต่ข้อเสียคือ น้ำหนักไม่สมดุล ทำให้ใช้งานยาก ต้องอาศัยความชำนาญ
2) กาพ่นสีแบบดูด (Suction Feed Type) เป็นกาพ่นสีที่มีตัวกาอยู่ด้านล่างของตัวพ่นสี ที่เรียกกันว่า กาล่าง ซึ่งต้องใช้แรงดูดในการดูดสีขึ้นมาจากตัวกา เหมาะกับงานพ่นสีอุตสาหกรรม เพราะตัวกาสามารถต่อกับถังสีได้โดยตรง ทำให้พ่นสีต่อเนื่องได้นาน พ่นสีชิ้นงานจำนวนมากได้
เทคโนโลยีกับการพัฒนาของกาพ่นสีลม
กาพ่นสีลมทั่วไปต้องการความดันลมประมาณ 2.5-4 บาร์ ซึ่งจะมีการฟุ้งกระจายของละอองสีค่อนข้างมาก ต้องใช้พื้นที่ในการทำงานที่กว้าง แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ทำให้กาพ่นสีถูกพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งมีให้เลือกใช้เพิ่มอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่
1) กาพ่นสีแบบ Trans-tech ต้องการความดันลมประมาณ 2 บาร์ มีประสิทธิภาพในการฉีดสีสูงกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกาพ่นสีทั่วไปที่มีประสิทธิภาพในการฉีดสีต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประหยัดสีมากขึ้น
2) กาพ่นสีแบบปริมาณลมสูงความดันต่ำ (High Volume Low Pressure: HVLP) ต้องการความดันลมต่ำกว่า 2 บาร์ ทำให้ใช้กับปั๊มลมขนาดเล็กได้ มีการฟุ้งกระจายของละอองสีน้อย สามารถใช้ในพื้นที่การทำงานจำกัดได้ เช่น ภายในบ้าน ภายในห้องเล็กๆ เป็นต้น มีประสิทธิภาพในการฉีดสีสูงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ราคาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะถ้าเป็นกาพ่นสีแบบกาล่างที่ต้องการแรงในการดูดสีจากตัวกา
ขนาดของรูหัวฉีดสีและฝาครอบหัวฉีด /หัวลม (Air Cap)
ขนาดของรูหัวฉีดสีมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 0.8-3.0 มม.ถ้าเป็นงานที่ต้องการละอองสีเล็กๆ ความละเอียดสูง ก็มักจะใช้รูหัวฉีดขนาด 0.8-1.3 มม. งานที่ต้องการความละเอียดปานกลางหรืองานทั่วๆไป จะใช้รูหัวฉีดขนาด 1.3-1.8 มม. และงานที่ต้องพ่นสีความเข้มข้นสูงก็จะใช้หัวฉีดขนาดประมาณ 2-2.5 มม. ฝาครอบหัวฉีดหรือหัวลม เป็นตัวจ่ายอากาศผสมกับสีออกมาเป็นละอองสี ถ้ามีรูช่วยเพิ่มอากาศน้อยก็จะได้ละอองสีที่ละเอียดน้อย เหมาะกับการพ่นสีรองพื้น ถ้ามีรูช่วยเพิ่มอากาศมากก็จะได้ละอองสีที่ละเอียดมาก เหมาะกับการพ่นสีทับหน้า นอกจากนี้ชนิดของฝาครอบหัวฉีดหรือหัวลมยังมีผลต่อรูปร่างของสีที่พ่นออกมาด้วย
ชนิดของสีที่ใช้พ่นชิ้นงาน
ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งในการเลือกกาพ่นสีลมคือ ชนิดของสีที่ใช้พ่นชิ้นงาน ต้องดูว่ากาพ่นสีรุ่นนี้เหมาะกับสีชนิดใด สีน้ำ สีน้ำมัน สีทา สีย้อม สีแต้ม สีเคลือบ แลกเกอร์ สีที่มีความหนืด หรือแม้แต่ตัวทำละลายที่ใช้ผสมสีเป็นแบบไหน ใช้น้ำ ใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ หรือตัวทำละลายที่มีความกัดกร่อนสูง เป็นต้น
การเลือกปั๊มลม
นอกจากกาพ่นสีที่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับงานแล้ว ปั๊มลมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาทั้งขนาดของถังเก็บลมและชนิดของปั๊มลม
• ถ้าทำงานพ่นสีเล็กน้อย ชิ้นงานไม่กี่ชิ้น ทำงาน DIY หรือทำเมื่อมีเวลาว่าง ปั๊มลมโรตารี่ ขนาด 30 หรือ 50 ลิตร ก็เพียงพอต่อการใช้งาน เพราะปั๊มลมได้เร็ว ราคาไม่แพงมาก
• ถ้าพ่นสีชิ้นงานหลายชิ้นต่อเนื่องกัน ปั๊มลมแบบสายพานจะเหมาะสมกว่า มีความทนทานมากกว่า แต่ก็ต้องเลือกถังเก็บลมที่มีขนาดใหญ่หน่อย ประมาณ 60 ลิตร เพราะปั๊มลมแบบสายพานปั๊มลมค่อนข้างช้า
• ถ้าต้องการความเงียบ ก็ใช้ปั๊มลม Oil free ขนาด 30 หรือ 50 ลิตร ตามปริมาณชิ้นงานที่ต้องการพ่นสี
• ถ้าพ่นสีชิ้นงานจำนวนมากๆ ก็ควรเลือกปั๊มลมขนาด 90 หรือ 160 ลิตร
สินค้าที่เกี่ยวข้อง